เจาะลึกเรื่องโรงเรือนปลูกผัก มีกี่รูปแบบ เหมาะกับการปลูกผักชนิดไหนบ้าง
โรงเรือนปลูกผักเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการปลูกผักในที่ร่มที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่เกษตรกรและคนรักการทำสวนในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณความชื้น หรือปริมาณแสงแดด ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผักต่าง ๆ นอกจากนี้ยังช่วยให้ปลูกผักได้แม้ในช่วงฤดูที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย บทความนี้ Civic AgroTech จะพาไปดูรูปแบบโรงเรือนปลูกผักแบบต่าง ๆ และดูว่ามีผักชนิดใดบ้างที่น่าปลูกภายในโรงเรือน
สารบัญบทความ
โรงเรือนปลูกผักคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร
โรงเรือนปลูกผักคือโครงสร้างโรงเรือนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการปลูกพืชผักไว้ภายใน มักทำจากโครงเหล็กหุ้มด้วยวัสดุโปร่งแสง เช่น พลาสติก, ตาข่าย, อะครีลิก หรือกระจกเพื่อให้แสงแดดส่องถึงพืชผักได้ ขณะเดียวกันก็ป้องกันพืชผักจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม เช่น ฝน, ความร้อน, ความหนาวเย็น ไปจนถึงฝุ่นละอองและศัตรูพืช ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด รวมถึงการระบายอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ให้ผลผลิตสูงและได้คุณภาพตามมาตรฐานที่ต้องการ
รูปแบบของโรงเรือนปลูกผักมีอะไรบ้าง
โรงเรือนปลูกผักมีหลากหลายรูปแบบ สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับพื้นที่และชนิดของผักที่ต้องการปลูก โดยรูปแบบที่นิยมใช้กันมี 3 รูปแบบดังนี้
โรงเรือนปลูกผักทรงโค้ง
โรงเรือนปลูกผักทรงโค้งเป็นรูปแบบโรงเรือนที่มีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน ก่อสร้างง่าย ราคาถูกกว่าโรงเรือนรูปแบบอื่น ทั้งยังเป็นรูปทรงที่ไม่ต้านลม ขณะที่ทรงโค้งของหลังคายังช่วยในเรื่องระบายน้ำฝนได้เป็นอย่างดี เหมาะกับการปลูกผักหลายชนิด อาทิ ผักสลัด, ผักกินใบ, ผักไม้เลื้อย รวมถึงพันธุ์ไม้สวยงามต่าง ๆ เป็นต้น
ข้อเสียของโรงเรือนปลูกผักทรงโค้งคือความร้อนที่ลอยตัวขึ้นด้านบนจะไหลออกจากหลังคาได้ยากเนื่องจากไม่มีช่องระบายอากาศบนหลังคา ทำให้เกิดความร้อนสะสม และมีการหมุนเวียนอากาศไม่ดีเท่าโรงเรือนปลูกผักรูปแบบอื่น โรงเรือนรูปแบบนี้จึงเหมาะกับพื้นที่ที่มีอากาศไม่ร้อนอบอ้าวและมีลมพัดผ่าน เช่น ลานโล่งแจ้ง และบนภูเขาสูง เป็นต้น
โรงเรือนปลูกผักหลังคาฟันเลื่อย
โรงเรือนปลูกผักหลังคาฟันเลื่อยหรือเรียกอีกอย่างว่าโรงเรือนทรง ก.ไก่ มีลักษณะคล้ายโรงเรือนทรงโค้งแต่ด้านบนหลังคาออกแบบให้มีช่องเปิดว่างเป็นรอยหยัก ช่วยให้ระบายอากาศได้ดีขึ้น ช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้รวดเร็ว และช่วยเพิ่มอัตราหมุนเวียนอากาศภายในโรงเรือน เหมาะสำหรับการปลูกผักหลายชนิด เช่น ผักสลัด, ผักกาดแก้ว, ผักตระกูลแตง, พริก, ผักตระกูลมะเขือ, ผักไม้เลื้อย เป็นต้น
โรงเรือนปลูกผักหลังคาฟันเลื่อยมีราคาสูงกว่าโรงเรือนหลังคาโค้งและจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในการติดตั้งพอสมควรเพราะโครงสร้างมีความซับซ้อนกว่า นอกจากนี้ ด้วยความที่หลังคาโรงเรือนมีช่องว่างจึงควรติดตั้งในทิศทางที่ไม่ต้านลมเพราะหากเจอกระแสลมพัดแรงอาจทำให้โรงเรือนเกิดความเสียหายได้ โรงเรือนรูปแบบนี้จึงเหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทยเป็นอย่างดี
โรงเรือนปลูกผักทรงจั่ว 2 ชั้น
โรงเรือนปลูกผักทรงจั่ว 2 ชั้น เป็นรูปแบบโรงเรือนที่มีจุดเด่นด้านการระบายความร้อนที่ดีที่สุดในโรงเรือนทั้ง 3 รูปแบบ อากาศร้อนที่อยู่ภายในโรงเรือนจะลอยตัวขึ้นสู่ด้านบนแล้วระบายออกได้สองฝั่ง ส่งผลให้อากาศภายในโรงเรือนมีการหมุนเวียนที่ดี ภายในจึงมีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนมาก นอกจากนี้ตัวหลังคายังระบายน้ำฝนได้ดีอีกด้วย เหมาะสำหรับการปลูกพืชผักทุกชนิดและผักที่ต้องปลูกในพื้นที่อุณหภูมิต่ำ
ข้อเสียของโรงเรือนปลูกผักทรงจั่ว 2 ชั้นคือมีราคาแพงที่สุด โครงสร้างมีความซับซ้อนที่สุด ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการติดตั้ง เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างโรงเรือนปลูกผักขนาดใหญ่สำหรับการปลูกผักเศรษฐกิจ และการก่อสร้างในฟาร์มขนาดใหญ่
โรงเรือนปลูกผักมีข้อดีอย่างไรบ้าง
โรงเรือนปลูกผักมีข้อดีมากมายทั้งในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต การเจริญเติบโต ไปจนถึงคุณภาพของผัก โดยข้อดีหลัก ๆ ของการทําโรงเรือนปลูกผักมีดังนี้
- ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ – โรงเรือนปลูกผักช่วยให้เกษตรกรสามารถควบสภาพแวดล้อมในการปลูกผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการปลูกในรูปแบบ Smart Farm ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง รวมถึงการตั้งเวลารดน้ำและให้สารอาหารแก่ผักที่ปลูกได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผักเติบโตได้ดีในทุกฤดูกาล ทั้งยังให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี
- ป้องกันศัตรูพืชและโรค – การปลูกผักในโรงเรือนช่วยป้องกันศัตรูพืช แมลง และโรคระบาด ที่จะมาทำลายผลผลิต ทำให้ผักมีสุขภาพดีและปลอดภัยต่อการบริโภค
- เพิ่มผลผลิต – การปลูกผักในโรงเรือนช่วยให้ผักเจริญเติบโตรวดเร็ว มีผลผลิตสูง และมีคุณภาพดีกว่าการปลูกผักในที่โล่ง เนื่องจากมีการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม
- ประหยัดน้ำ – โรงเรือนปลูกผักช่วยลดการสูญเสียน้ำจากการระเหย ทำให้ผักที่ปลูกมีความสดชื่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังช่วยประหยัดน้ำได้มากขึ้นเนื่องจากใช้ปริมาณน้ำในการดูแลผักน้อยลง
ปลูกได้ตลอดปี – ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหน สภาพอากาศเป็นอย่างไร การปลูกผักในโรงเรือนที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสมก็จะไม่ส่งผลกระทบการเจริญเติบโตของผัก ผักที่ปลูกจะเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามระยะเวลาที่กำหนด เกษตรกรจึงปลูกผักได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพอากาศ
พืชชนิดใดบ้างที่เหมาะสำหรับการปลูกในโรงเรือน
พืชหลายชนิดสามารถปลูกในโรงเรือนปลูกผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการเจริญเติบโตที่ดี ทั้งยังให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี โดยพืชผักที่นิยมปลูกในโรงเรือนมีดังนี้
ปลูกผักสวนครัว
ผักสวนครัวหลายชนิดเหมาะสำหรับการปลูกภายในโรงเรือนปลูกผัก เนื่องจากผักหลาย ๆ ชนิดนั้นไม่ชอบน้ำ หากได้รับน้ำในปริมาณที่มากเกินไปหรือถูกฝนโดยตรงก็อาจทำให้รากเน่าหรือเกิดเชื้อราได้ง่าย การปลูกผักสวนครัวในโรงเรือนที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสมจะทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดีและมีผลผลิตสูง เช่น ผักชี, ต้นหอม, กะเพรา, โหระพา, แตงกวา, ผักตระกูลมะเขือ เป็นต้น นอกจากนี้ โรงเรือนปลูกผักสวนครัวยังช่วยป้องกันศัตรูพืช แมลง โรคระบาด และยังกำจัดวัชพืชได้ง่ายอีกด้วย
ปลูกผักสลัด
ผักสลัดเป็นพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างมากเพื่อให้ได้ใบที่สดและกรอบ การปลูกผักสลัด เช่น ผักกาดหอม, เรดโอ๊ค, กรีนโอ๊ค, ผักคอส, บัตเตอร์เฮด ในโรงเรือนจะช่วยให้สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสงแดดได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดี ต้นดูสวยน่าทาน และให้รสชาติที่ดี นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันศัตรูพืชและฝุ่นละอองได้เป็นอย่างดี โรงเรือนปลูกผักสลัดจึงได้รับความนิยมอย่างมากทั้งจากคนที่ปลูกไว้ที่บ้านเพื่อบริโภคเอง และเกษตรกรที่สร้างโรงเรือนปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์เพื่อขาย
ปลูกต้นแคคตัส
นอกจากผักสวนครัวและผักสลัดนานาชนิดแล้ว โรงเรือนปลูกผักยังเหมาะกับการปลูกต้นแคคตัส ซึ่งเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีแสงแดดเพียงพอ ชอบอากาศร้อนและแห้ง และไม่ต้องการน้ำมาก การปลูกต้นแคคตัสในโรงเรือนสามารถป้องกันการฝนและความชื้นที่มากเกินไป ช่วยป้องกันปัญหาต้นเน่า เชื้อรา หรือถูกแมลงกัดกิน
สรุป โรงเรือนปลูกผัก ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของพืชผักอย่างยั่งยืน
โรงเรือนปลูกผักช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะทั้งการปลูกผักสวนครัวและผักสลัดชนิดต่าง ๆ รวมถึงไม้ประดับสวยงาม นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาโรงเรือนให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นด้วยชุดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบสําเร็จรูป ซึ่งเป็นการปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน แต่จะใช้การผสมสารละลายที่มีธาตุอาหารหรือ “ปุ๋ยน้ำ” ในการปลูก ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยป้องกันศัตรูพืชรวมถึงช่วยประหยัดน้ำและทรัพยากรต่าง ๆ ได้มากขึ้น ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การทำโรงเรือนปลูกผักควรเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และผักที่จะปลูกด้วย เพื่อประสิทธิภาพและการเจริญเติบโตที่ดีของผักชนิดนั้น ๆ
หากสนใจปลูกผักสลัดหรือผักสวนครัวด้วยนวัตกรรมการเพาะปลูกที่มีความทันสมัย ติดต่อ Civic Agrotech ได้ผ่านช่องทาง Line : @CivicAgrotech หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.civicagrotech.com