ระบบน้ำหยด ตัวช่วยจัดการระบบน้ำทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ
ระบบน้ำหยด เป็นตัวช่วยในการจัดระบบน้ำให้เหมาะสมแก่การทำเกษตร หนึ่งในเทคโนโลยีการทำเกษตรรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกพืช เพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ บทความนี้ Civic AgroTech จะพาคุณมารู้จักกับระบบน้ำหยดให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหลักการทำงาน, ประโยชน์ทางการเกษตร ตลอดจนข้อดีและข้อจำกัดที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจทำระบบน้ำหยด
สารบัญบทความ
ระบบน้ำหยดคืออะไร
ระบบน้ำหยด (Drip Irrigation System) คือ เทคโนโลยีการชลประทานสำหรับจัดการระบบน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช, ปลูกผัก, ทำไร่ หรือทำสวน ที่สามารถนำระบบน้ำหยดมาใช้สำหรับควบคุมปริมาณน้ำในการปลูกพืช เพื่อรักษาระดับความชื้นในดิน รวมถึงให้พืชได้รับน้ำเพียงพอต่อความต้องการ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณที่มากขึ้น
ระบบน้ำหยด มีหลักการทำงานอย่างไร
หลักการของระบบน้ำหยดเพื่อการเกษตรสำหรับให้น้ำแก่พืชนั้น เป็นการให้น้ำผ่านระบบท่อน้ำทั้งแบบจุดเดียวหรือหลายจุด โดยปล่อยน้ำทางหัวน้ำหยดที่ติดตั้งไว้บริเวณโคนต้นพืช เพื่อให้น้ำหยดลงมาบริเวณโคนต้นและซึมลงบริเวณรากพืชอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทุกหัวน้ำหยดจะมีการจ่ายน้ำในระดับแรงดันเท่า ๆ กัน โดยน้ำที่ไหลออกมาจะต้องผ่านการกรองตะกอนหรือคราบตะไคร้เสียก่อนเพื่อป้องกันการอุดตันที่หัวน้ำหยด
นอกจากนี้ ระบบน้ำหยดยังสามารถควบคุมการทำงานให้เหมาะสมกับการเกษตรแต่ละรูปแบบได้ทั้งการเพาะปลูกพืชระบบเปิด และระบบปิดอย่าง Plant Factory ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดปริมาณหรือแรงดันของน้ำ, ตั้งเวลาในการเปิด-ปิดน้ำ, การให้ปุ๋ย ตลอดจนสามารถนำไปใช้ผสมผสานระบบกับอุปกรณ์อื่น ๆ ทางการเกษตรได้เช่นกัน
ระบบน้ำหยด ช่วยในการเกษตรได้อย่างไรบ้าง
ระบบน้ำหยด ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีประโยชน์ต่อการทำเกษตรหลากหลายประการ ดังต่อไปนี้
ลดโอกาสเกิดหน้าดินแห้ง
การทำระบบน้ำหยดนั้น เป็นการให้น้ำกับพืชได้อย่างตรงจุด และไม่ทำให้น้ำฟุ้งกระจายออกนอกพื้นที่ โดยเป็นการปล่อยน้ำเป็นหยดเล็ก ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ จึงช่วยให้ดินชุ่มชื้นอยู่ตลอด ทั้งยังลดโอกาสการเกิดหน้าดินแห้งได้ ยิ่งไปกว่านั้น ระบบน้ำหยดสามารถจ่ายน้ำให้พืชและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดินได้ตลอดแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศก็ตาม
รักษาผลผลิตทางการเกษตร
ระบบน้ำหยดเป็นตัวช่วยสำคัญในการรักษาสมดุลความชื้นในดิน ทำให้รากพืชสามารถดูดน้ำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนสามารถดูดซึมอาหารอย่างปุ๋ยและแร่ธาตุได้เต็มประสิทธิภาพ จึงช่วยให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรในปริมาณที่สูงขึ้น และมีความคุ้มค่ากว่าการใช้ระบบน้ำรูปแบบอื่น ๆ
เกษตรกรสามารถรับมือกับภัยแล้ง
นอกจากช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแล้ว การวางระบบน้ำหยดยังเหมาะสำหรับการใช้ในพื้นที่แห้งแล้งหรือพื้นที่ขาดแคลนน้ำอีกด้วย เนื่องจากสามารถควบคุมการจ่ายน้ำได้ จึงใช้น้ำในปริมาณน้อยกว่าการรดน้ำด้วยมือหรือการใช้สปริงเกอร์ฉีดน้ำ และช่วยประหยัดน้ำได้ดี ทำให้เกษตรกรสามารถรับมือกับภัยแล้งได้
ลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร
การทำระบบน้ำหยดเป็นการลงทุนครั้งเดียวแต่ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรได้ เนื่องจากติดตั้งอุปกรณ์เพียงครั้งเดียวก็ใช้ได้ตลอดอายุการใช้งาน อีกทั้งเกษตรกรยังสามารถควบคุมหรือจัดการระบบได้เอง จึงช่วยลดการใช้แรงงานในการทำเกษตร นอกจากนี้ยังประหยัดเวลาการทำงาน เพราะระบบน้ำหยดสามารถให้น้ำพืชได้พร้อมกันในหลายพื้นที่ จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการน้ำด้วยเช่นกัน
ลดการระบาดของศัตรูพืชและวัชพืช
อีกหนึ่งประโยชน์ของระบบน้ำหยดคือ ลดการระบาดของศัตรูพืชและวัชพืช รวมทั้งให้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ เพราะเกษตรกรสามารถให้ปุ๋ยหรืออาหารเสริมไปพร้อมกับระบบน้ำได้ เพียงติดตั้งอุปกรณ์จ่ายปุ๋ย (Injector) เข้ากับระบบน้ำหยด ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ประหยัดเวลาในการดูแลพืช โดยไม่ต้องมาเสียเวลากำจัดศัตรูพืชและวัชพืชในภายหลัง
เหมาะกับสภาพดินทุกประเภท
การทำระบบน้ำหยดสามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ และเหมาะกับสภาพดินทุกประเภท ทั้งดินร่วน ดินทราย หรือดินเหนียว รวมถึงดินที่มีปัญหาอย่างดินเค็มหรือดินด่างด้วย นอกจากนี้ยังใช้ได้กับพืชหลากหลายประเภท ยกเว้นพืชที่ต้องหว่านเมล็ดและพืชที่ต้องการน้ำขัง
ระบบน้ำหยด ต้องติดตั้งอุปกรณ์ใดบ้าง
ระบบน้ำหยด ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง? ในการทำระบบน้ำหยดมีอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ต้องใช้ติดตั้งเบื้องต้น ดังนี้
- เครื่องสูบน้ำหรือถังน้ำ (Water Pump) : ใช้สำหรับส่งน้ำให้กับระบบน้ำหยดและสร้างแรงดันน้ำที่เหมาะสม
- หัวน้ำหยด (Dripper or Emitter) : ใช้สำหรับจ่ายน้ำและควบคุมอัตราการจ่ายน้ำ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ หัวน้ำหยดชนิดไม่ชดเชยแรงดัน ซึ่งสามารถปรับอัตราการจ่ายน้ำได้ และหัวน้ำหยดชนิดชดเชยแรงดัน ทำให้จ่ายน้ำได้สม่ำเสมอ
- เครื่องกรองน้ำ (Water Filter) : ใช้ในการกรองตะกอนในน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้หัวน้ำหยดและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของระบบน้ำหยดเกิดการอุดตัน ตัวอย่างเครื่องกรองน้ำสำหรับระบบน้ำหยด เช่น เครื่องกรองน้ำแบบตะแกรง (Surface Filter) เครื่องกรองนํ้าแบบทรายกรอง (Sand Filter) หรือเครื่องกรองน้ำแบบแผ่นดิสก์ (Disc Filter)
- ท่อประธานหรือท่อเมน (Main Line) : เป็นท่อหลักที่ใช้ในการส่งน้ำไปยังท่อรองประธาน (Sub Line) และท่อแขนง (Lateral) ของระบบน้ำหยด
- ท่อรองประธาน (Sub Line) : เป็นท่อส่งน้ำที่ต่อแยกออกมาจากท่อประธาน มีหน้าที่รับน้ำจากท่อประธานแล้วแบ่งน้ำออกเป็นส่วน ๆ เพื่อส่งต่อไปยังท่อแขนง
- อุปกรณ์คุมแรงดันน้ำ (Pressure Regulator) : ใช้สำหรับควบคุมแรงดันน้ำภายในท่อแขนงให้คงที่ เพื่อให้น้ำออกจากหัวน้ำหยดทั้งทางต้นท่อและปลายท่อได้อย่างสม่ำเสมอ
ข้อดีของระบบน้ำหยด
นอกจากประโยชน์ทางด้านการเกษตรที่ได้กล่าวมาแล้ว การทำระบบน้ำหยดยังมีข้อดีในการช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับทำการเกษตรอีกมากมาย ดังนี้
- ประหยัดเวลาในการทำงาน ระบบน้ำหยดช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลารดน้ำหรือดูแลพืชอย่างใกล้ชิด มีเวลาพัฒนาคุณภาพของผลผลิตได้มากขึ้น
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในการให้น้ำ เนื่องจากใช้น้ำในปริมาณน้อย ทั้งยังสามารถให้ปุ๋ยหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไปพร้อมกันได้ จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดได้ดี
- นำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับกับการเกษตรแบบอื่นได้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวได้อีกทาง เช่น ประยุกต์ใช้กับการเกษตรแบบ Smart Farm ในส่วนของการจัดระบบน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูงได้อย่างแม่นยำและคุ้มค่า
- มีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าระบบน้ำอื่น ๆ เนื่องจากระบบน้ำหยดสามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุดถึง 75-95 เปอร์เซ็นต์ และมีการสูญเสียน้ำน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการใช้สปริงเกอร์
หรือการปล่อยน้ำให้ท่วมขัง - มีราคาคุ้มค่า วิธีทำระบบน้ำหยดนั้นไม่ต้องใช้แรงดันน้ำมากเพื่อให้น้ำพืช จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำแรงดันสูงหรือระบบส่งน้ำขนาดใหญ่เช่นเดียวกับระบบพ่นหมอก ทำให้สามารถติดตั้งได้หลายจุด และมีราคาย่อมเยากว่า
- อุปกรณ์ติดตั้งง่าย เกษตรกรสามารถทำการออกแบบระบบน้ำหยดและติดตั้งเองได้ง่าย ๆ เพราะมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทั้งยังติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมตามต้องการได้ เช่น เครื่องตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติ (Timer) อุปกรณ์ระบายอากาศ (Air Release Valve) หรือตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า (Electric Controllers) เป็นต้น
ข้อจำกัดของระบบน้ำหยด
ระบบน้ำหยดมีข้อเสียหรือไม่? ข้อจำกัดของระบบน้ำหยดมักเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย 2 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
- หัวน้ำหยดอุดตันจากตะกอนต่าง ๆ ที่มากับน้ำ ข้อจำกัดนี้อาจทำให้น้ำไม่ไหลออกจากหัวน้ำหยด ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการถอดอุปกรณ์ออกมาล้างทำความสะอาดเศษตะกอนออกไป
- หัวน้ำหยดหลุดบ่อยเนื่องจากแรงดันน้ำมากเกินไป สามารถแก้ไขได้โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำให้มีแรงดันที่เหมาะสม
สรุป ระบบน้ำหยด นำมาใช้ในการเกษตรได้อย่างไร
ระบบน้ำหยด เป็นเทคโนโลยีทางการเกษตรสำหรับใช้จัดการระบบน้ำ เพื่อรักษาสมดุลความชื้นในดินให้พืชได้รับน้ำมาใช้ในการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรได้
ผู้ที่สนใจทำระบบน้ำหยดเพื่อการเกษตร ทาง Civic AgroTech ผู้นำนวัตกรรมการเกษตรแบบ Indoor อย่างเต็มรูปแบบ เรามีบริการให้คำปรึกษางานระบบปลูกพืช และจำหน่ายอุปกรณ์ทำระบบน้ำหยด รวมถึงอุปกรณ์ปลูกพืชทุกรูปแบบ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
- Line : @Civic Agrotech
- เบอร์โทรศัพท์ : 02-688-0860
- E-Mail : sales@civicagrotech.com